Bitcoin Addict เปลี่ยนเว็บไซต์ใหม่เป็น www.bitcoinaddict.com

November 4, 2021
Featured|บทความ

DeFi WTF!! Guide Book เส้นทางสู่การเป็นชาวนาดิจิทัล ตอนที่ 9 : Abracadabra ผู้ท้าชิง DeFi 2.0 สู่การโค่นล้ม MakerDao

สวัสดีครับ ในช่วงที่ผ่านมานี้หลายๆคนอาจจะได้ยินคำว่า DeFi 2.0 กันมากขึ้น และบางคนมองในแง่บวกก็คิดว่าสิ่งนี้แหละที่จะมาเป็นวิวัฒนาการครั้งใหญ่ของวงการนี้ หรือบางคนอาจจะมองในแง่ร้ายคิดว่าสิ่งนี้แหละที่กำลังจะสร้างฟองสบู่ลูกใหญ่ขึ้นมาจริงๆ วันนี้เลยเป็นโอกาสอันดีที่ผู้อ่านจะได้เข้าใจหนึ่งในแพลตฟอร์มที่อยู่ในกลุ่ม DeFi 2.0 นั่นก็คือ Abracadabra ครับ 

โดยบทความนี้จะพาผู้อ่านมารู้จักว่า Abracadabra คืออะไร ทำงานอย่างไร และ $MIM Stablecoin ว่ามันมีข้อดีอะไรถึงได้กลายเป็น Stablecoin อันดับ 6 และ $SPELL เหรียญ Governance Token ของมันว่ามี Tokenonomics อย่างไรบ้าง รวมถีงความคิดเห็นส่วนตัวที่มีต่อแพลตฟอร์มนี้ครับ

Abracadabra

อยู่ในหมวดของ Lending protocol ที่อนุญาตให้ผู้ฝากนำสินทรัพย์ที่มีดอกเบี้ยมาค้ำประกันเพื่อกู้เหรียญ $MIM ออกไปใช้งานได้ หากผู้ฝากนำเหรียญ $MIM ไปฝากใน MIM-3LP3CRV ของ Curve ก็จะได้รับผลตอบแทน 3 อย่างคือ Trading fee, $CRV และ $SPELL นอกจากนี้ Abracadabra ยังมีอยู่ใน 6 Chain ด้วยกัน ประกอบด้วย Ethereum, Avalanche, Fantom, Binance Smart Chain Arbitrum และ Terra ทำให้สามารถย้าย $MIM ไปมาหากันได้อย่างง่ายดาย

จุดเด่นของ Abracadabra

  • สินทรัพย์ค้ำประกัน (Collateral) เป็นประเภทที่มีดอกเบี้ยติดตัว (Interest-Bearing Tokens (ibTKNs)) หมายความว่าสินทรัพย์ค้ำประกันของเราจะโตขึ้นเรื่อยๆ ชดเชยดอกเบี้ยที่ต้งจ่ายและยังทำให้กู้ได้มากขึ้นเรื่อยๆเมื่อเวลาผ่านไป 
  • Multichain ด้วยการที่ Abracadabra มีด้วยกันถึง 6 Chain ทำให้ผู้ใช้สามารถย้ายไปใช้งาน Chain ที่มีค่าแก๊สถูกแล้วส่ง $MIM ย้ายกลับมาก็ได้ และยังโยกเงินไปมาได้สะดวกยิ่งขึ้นอีกด้วย
  • Team หนึ่งใน Developer ของ Abracadabra คือ Daniele Sesta หรือ @danielesesta ผู้อยู่เบื้องหลังแพลตฟอร์มที่มีชื่อเสียง เช่น Popsicle Finance (เคยโดนแฮค ลิงค์ข่าว) ที่เป็น multichain yield optimization platform และ Wonderland ที่เป็น decentralized reserve currency protocol บน Avalanche คล้ายกับ OlympusDao บน Ethereum เรียกได้ว่าเป็น Developer ที่มีอิทธิพลในวงการ DeFi อย่างมาก

Market Cap จากข้อมูลของ coingecko เติบโตอย่างก้าวกระโดดถึง 1.9 พันล้านดอลลาร์ในปัจจุบันจากเดือนก่อนที่มีเพียง 800 ล้านดอลลาร์เท่านั้น ทำให้ปัจจุบัน $MIM ขึ้นเป็นอันดับ 6 ของหมวด Stabelcoin แล้ว 

$MIM Tokenomics

จุดประสงค์ของ $MIM คือการเป็น Stablecoin ที่มีความ Decentralized เช่นเดียวกันกับ $DAI ของ makerDao และใช้ Asset-backed เหมือนกันแต่สินทรัพย์ที่ใช้ค้ำนั้นจะมีการปรับให้ดีขึ้นกว่าเดิม โดยการทำแบบนี้ทำให้ไม่มีคนกลางคอยควบคุม ส่งผลให้ไม่มีสามารถใช้กฎหมายบังคับให้ทำตามได้

หลักการตรึงราคา: คล้ายกับ algorithm stablecoin ทั่วไป คือ ใช้การ arbitrage หรือก็คือใช้กลไกตลาดทำให้ราคาของมันกลับไปที่ 1 ดอลลาร์ ยกตัวอย่างเช่น หากราคาต่ำกว่า 1 ดอลลาร์ จะมีคนตัดสินใจซื้อ $MIM ในราคาตลาดที่ต่ำกว่า 1 ดอลลาร์ หลังจากนั้นจะนำ $MIM ไปคืนหนี้ที่กู้ออกมาหรือถือเพื่อรอขายที่ราคา 1 ดอลลาร์ก็ได้ 

ในทางกลับกัน หากราคา $MIM ในตลาดสูงกว่า 1 ดอลลาร์ จะมีคนนำสินทรัพย์มาค้ำเพื่อกู้ $MIM ในราคา 1 ดอลลาร์มาขายในตลาดที่ราคาสูงกว่า 1 ดอลลาร์เพื่อทำกำไรส่วนนั้น

การสร้างเหรียญ $MIM: Abracadabra เลือกใช้ Kashi Suite ซึ่งเป็น Smart contract ที่คิดค้นโดย BoringCrypto โดย Kashi จะสร้างตลาดการกู้ยืมแบบแบ่งแยกสินทรัพย์ค้ำประกันกันคนละเภทเรียกว่า Cauldron หรือหม้อต้มขนาดใหญ่ที่บรรจุ $MIM ไว้ข้างในตามจำนวนเหรียญที่กลุ่ม MultiSign ได้ตกลงกัน และหากหม้อต้มนั้นมีการกู้ $MIM ไปจนหมดก็จะต้องรอการเติมครั้งใหม่ โดยติดตามได้ใน Discord ของ Abracadabra

กลุ่ม MultiSign: มีด้วยกัน 10 กลุ่ม โดยการอนุมัติการเพิ่ม $MIM นั้นจะต้องได้รับการยินยอม 6 ใน 10 จึงจะเพิ่มได้ โดยทั้ง 10 กลุ่มมีดังนี้

Poolpi (Yearn Finance)

Leo Cheng (Cream Finance)

Michael (Curve Finance)

Squirrel (Popsicle Finance and Abracadabra Money)

Danielesesta (Popsicle Finance, Abracadabra Money and WonderlandDAO)

0xMerlin (Abracadabra Money)

Julien (Stakedao)

C2tp (Convex Finance)

Georgiy (Popsicle Finance and Abracadabra Money)Sifu (WonderlandDAO)

เปรียบเทียบ $MIM และ $DAI: จากข้อมูลของ ByeByeDai ซึ่งเป็นเว็บเปรียบเทียบ Abracadabra กับ MakerDao ชี้ให้เห็นชัดเลยว่าประสิทธิภาพของ Abracadabra นั้นดีกว่า MakerDao หลายเท่าเพราะ TVL ของ Abracadabra เล็กกว่า MakerDao ถึง 4.23 เท่า แต่ค่าธรรมเนียมที่แพลตฟอร์มได้รับนั้นสูงกว่าถึง 1.42 เท่า และเมื่อเทียบ $MIM Supply แล้วยังเป็นเพียง 30% ของ $DAI Supply จึงตีความได้ว่า Abracadabra ยังมีพื้นที่เติบโตได้อีกมาก แต่อย่างไรก็ตาม $MIM ยังไม่ได้มีการยอมรับ การใช้อย่างแพร่หลาย และผ่านวิกฤตช่วงตลาดตกหนักเท่ากับ $DAI เพราะฉะนั้นการใช้ $MIM ก็ยังมีความเสี่ยงมากกว่าซึ่งก็ต้องใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์

การกู้ยืม $MIM: ปัจจุบันสามารถนำสินทรัพย์มากกว่า 15 ประเภทมาวางค้ำได้แล้ว ทั้งที่เป็น LP token หรือเหรียญก็ได้เช่นกัน มีจุดสังเกตอยู่ 5 จุดด้วยกัน:

  • Component: เป็นประเภทของสินทรัพย์ค้ำประกัน
  • Left to Borrow: จำนวน $MIM ที่เหลือให้กู้ได้ บางอันที่หมดแล้วก็ต้องรอมาเติมใหม่
  • Interest fee: ดอกเบี้ยจ่ายในรูปของ $MIM เช่นถ้ากู้ 100 MIM ที่ดอกเบี้ย 1% จะแปลว่ามี $MIM ต้องคืน 101 MIM ครับ ปกติแล้วดอกเบี้ยจ่ายจะค่อยๆกินสัดส่วน debt ratio ให้สูงขึ้น แต่ด้วยความที่สินทรัพย์ที่ค้ำเช่น yvUSDC นั้นมีดอกเบี้ยในตัวทำให้สัดส่วนหนี้อาจจะไม่โตขึ้นเลยก็ได้
  • Liquidation Fee: หากสัดส่วน Debt ratio มากกว่าที่กำหนดจะมี Liquidator มาล้างสถานะเราในราคา Discount ตามที่กำหนด

$SPELL Tokenomics

$SPELL เป็นเหรียญ Governance Token มี Total Supply ทั้งหมด 21,000 ล้านเหรียญ 

  • 63% (132.3 พันล้านเหรียญ): ให้กับ Liquidity Provider ที่ฟาร์ม MIM-3LP3CRV ใน Curve.fi , ETH-SPELL และ ETH-MIM และ Pool อื่นๆที่อาจมีในอนาคต หรืออาจร่วมมือกับแพลตฟอร์มอื่น เช่น Olympus Pro, Voltium Protocol
  • 30% (63.0 พันล้านเหรียญ): ให้กับทีมพัฒนา โดยเหรียญจะทยอยปล่อยภายใน 4 ปี

7% (14.7 พันล้านเหรียญ): ให้กับนักลงทุนที่ลงใน Initial DEX Offering (IDO) ของ Uniswap และ Sushiswap

นอกจากนี้ หากนำ $SPELL มา Stake ใน Abracadabra จะได้รับ sSPELL เป็นสัญญาในการฝาก ผลตอบแทนจากการ Stake $SPELL ดังนี้

  • Borrow Fee: เก็บจากผู้กู้ $MIM 0.05% ของยอดทั้งหมด
  • Interest Fee: เก็บจากผู้กู้ $MIM ในเรทที่ไม่เท่ากันตามแต่ละ Pool 
  • Trading Fee: ค่าธรรมเนียม 0.04% จากยอดแลกเปลี่ยนใน Curve.fi
  • Bridging Fee: ค่าธรรมเนียม 0.1% จากยอดทั้งหมดในการ Bridge $MIM ไปเชนอื่น
  • Liquidation Fee: 10% ของยอดล้างสถานะ

ค่าธรรมเนียมเหล่านี้จะนำไปซื้อ $SPELL แล้วเก็บไว้ใน SPELL Fee Pool สะสมไปเรื่อยๆให้แก่ผู้ที่ถือ sSPELL ดังนั้นเมื่อเวลาผ่านไปเรานำ sSPELL มาแลกคืนจะได้รับ $SPELL เดิมที่เราฝากไว้รวมทั้ง $SPELL ที่ได้จากค่าธรรมเนียมต่างๆเสริมเข้ามาด้วย หากคิดว่าแพลตฟอร์มนี้จะไปได้อีกไกล การฝาก $SPELL ไว้ก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ

การใช้ประโยชน์จาก $MIM

การหน้านี้เราได้อธิบายหลักการทำงานของ Abracadabra หมดแล้ว มองผิวเผินอาจจะไม่เห็นความสามารถพิเศษของแลพตฟอร์มนี้นอกจากการที่กู้เหรียญมาได้เท่านั้นเอง ในหัวข้อนี้ผมจะนำเสนอเทคนิคการใช้ $MIM ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นครับ

  1. Arbitrage Yield: หลักการคือหาสินทรัพย์ที่ดอกเบี้ยรับมากกว่าดอกเบี้ยกู้ก็จะทำให้เราไม่ต้องคืน $MIM หลังจากนั้นดอกเบี้ยรับจะค่อยๆใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนกลบดอกเบี้ยเงินกู้ในที่สุดทำให้เราไม่จำเป็นต้องคืน $MIM ด้วยซ้ำ ผมจะยกตัวอย่าง Pool yvUSDC นะครับ

ขั้นตอนแรกเรานำ USDC มาฝากไว้ใน Yearn.finance ที่ให้ผลตอบแทน 8.32% APY จากนั้น Yearn จะให้ YvUSDC เป็นสัญญาในการฝาก

เรานำสัญญานั้นค้ำใน Abracadabra.money ซึ่ง yvUSDC Pool คิดดอกเบี้ยกู้เราเพียงแค่ 0.8% แปลว่าดอกเบี้ยรับมากกว่าถึง 7.52% จึงไม่มีทางโดน Liquidate ได้เลยเพราะ USDC นั้นเป็น Stablecoin ที่ราคาไม่ผันผวนและยังมีดอกเบี้ยรับที่มากกว่ากู้อีกด้วย หลังจากนั้นเราก็กู้ $MIM ออกมา โดยกู้ได้เท่าไหร่แล้วแต่ที่แพลตฟอร์มกำหนด ตามตารางด้านล่าง

แล้วเราก็ Swap $MIM เป็นเหรียญอื่นแล้วโอนกลับ Exchange เพื่อแลกเป็นเงินบาท และเมื่อเวลาผ่านไปจนดอกเบี้ยรับเยอะพอที่จะนำไปซื้อ $MIM เพื่อปิดสัญญากู้ยืมก็เป็นอันจบครับ

2. นำ $MIM ฝาก Curve เพื่อรับค่า Fee: วิธีการนี้เริ่มต้นจากการฝากสินทรัพย์แล้วกู้ $MIM ออกมา หลังจากนั้นนำ $MIM ไป Provide Liquidity ใน MIM-3LP3CRV ใน Curve.fi จะได้เหรียญ $Spell แล้วนำ $SPELL ไป Stake เพื่อรับค่า Fee วิธีการนี้ลองคิดดูดีๆแล้วเราจะได้ผลตอบแทนจากหลายทางมาก

  • ผลตอบแทนจากสินทรัพย์ที่มาค้ำ เช่น yvUSDC APY 8.32%
  •  MIM-3LP3CRV ใน Curve.fi ได้ APR รวมกว่า 32% จาก Trading fee + $CRV + $SPELL
  • Stake $SPELL ที่ได้จาก Curve.fi APR ประมาณ 23% ใน Abracadabra

3. Leveraged Yielding: หลักการคล้ายกับวิธี 1 แต่เรานำ $MIM ที่ได้แลกเป็น USDC แล้วนำไปฝากที่ Yearn.finance แล้วนำ yvUSDC ไปฝากเพื่อกู้ $MIM ใหม่ ทำวนเช่นนี้ไปเรื่อยๆจนพอใจก็จะทำให้เราได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณไปเรื่อยโดยที่ความเสี่ยงไม่เพิ่มเท่าไหร่เพราะวิธีการนี้ใช้ Stablecoin ทั้งหมด ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้แพลตฟอร์มนี้เติบโตได้อย่างรวดเร็ว

ซึ่งทาง Abracadabra ก็อำนวยความสะดวกให้โดยการเพิ่มปุ่ม Change Leverage ให้ โดยสิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือจะกู้ $MIM กี่เปอเซนของยอดค้ำประกัน และจำนวนครั้งที่ต้องการหมุนเงินจากปุ่ม Choose your Loops ยิ่งกู้ $MIM เยอะหรือหมุนเงินหลายรอบก็จะมีความเสี่ยงมากขึ้น โดยเรา Leverage ได้สูงสุดถึง 6.51 เท่า 

ดังนั้นจึงควรเลือกให้ Liquidation price ของ USDC นั้นต่ำกว่า 0.97 ดอลลาร์ได้ยิ่งดี เพราะจากข้อมูลของ Coinmarketcap USDC เคยราคาต่ำสุดที่ 0.972 ในวันที่ 17 มีนาคม 2564 แต่อย่างไรก็ตามการใช้ Leverage ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นควรใช้มันอย่างระมัดระวัง

Partnership

Terra: เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2564 Daniele ได้ประกาศใน Twitter ถึงความร่วมกับ Terra ว่าสามารถนำ $UST ที่เป็น Algorithmic Stablecoin บน Terra Chain มาค้ำประกันได้แล้วเช่นกันซึ่งจะกู้ได้สูงสุดที่ 90% เช่นเดียวกับ Stablecoin LP ตัวอื่นๆ  โดยเบื้องหลังการทำงานหลังจากเราฝาก $UST แล้วจะ Bridge ไปฝากที่ Anchor บน Terra Chain เพื่อรับดอกเบี้ย 20% ต่อปี ถือว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีดอกเบี้ยติดตัวเช่นเดียวกัน

Convex Finance: หลังจากฝาก MIM-3LP3CRV ใน Curve.fi แล้วเราได้ $CRV เราสามารถ Stake $CRV ใน Covex Finance เพื่อรับค่าธรรมเนียมจาก Curve และ Airdrop ต่างๆ และได้รับ $cvxCRV เป็นสัญญาในการฝากที่สามารถนำไปฝากใน Curve.fi เพื่อนำมาค้ำประกันในการกู้ $MIM ได้อีกรอบเช่นกัน

ความเสี่ยง

พูดถึงข้อดีของ Abracadabra มามากแล้ว แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีความเสี่ยงเลย เพราะอย่างที่รู้กันว่าวิธีการนี้แม้จะค่อนข้างใหม่และมีตัวอย่างให้เห็นแล้วใน Anchor ที่สามารถฝาก UST แล้วนำสัญญา aUST มาใช้ค้ำประกันการ Short Farming ได้ แต่ระยะเวลาก็ไม่ถึงครึ่งปีด้วยซ้ำ ความเสี่ยงเรื่อง Code Bug ก็อาจจะมีได้แม้ว่าจะผ่านการ Audit จาก Certora แล้วก็ตาม และการบริหารความเสี่ยงจากการโดน Liquidate ก็เป็นเรื่องที่ต้องระวังเช่นกัน สุดท้ายนี้ $MIM เป็นเหรียญที่เสกขึ้นมาและใช้กฎที่ต้องมีสินทรัพย์มาค้ำถึงกู้ออกไปได้ ต่างกับ Lending Protocol อื่นที่มีฝั่งผู้ให้กู้วางสินทรัพย์ให้ผู้กู้ยืมไปใช้ $MIM จึงเป็นเหมือนเงินใหม่ที่อยู่ดีๆก็เกิดขึ้นมาแล้วยัง Cross chain ได้ง่ายอีกด้วย เราอาจจะได้เห็นฟองสบู่ลูกใหญ่หลังจากนี้ก็เป็นได้และจะใหญ่ขึ้นไปเรื่อยๆเพราะหลายแพลตฟอร์มก็เริ่มสนใจจะใช้วิธีการนี้แล้วเช่นกัน เราไม่มีทางรู้ได้ว่าฟองสบู่นี้จะแตกเมื่อไหร่ นักลงทุนทุกคนก็ระมัดระวังตัวเองให้ดีด้วยนะครับ 

บทความนี้หาข้อมูลและเรียบเรียงโดย Parit Boonluean

ตรวจสอบและช่วยเรียบเรียงโดย แอดหาญ

บทความที่คุณอาจสนใจ