Bitcoin Addict เปลี่ยนเว็บไซต์ใหม่เป็น www.bitcoinaddict.com

April 6, 2021
Featured|บทความ

DeFi WTF!! Guide Book เส้นทางสู่การเป็นชาวนาดิจิทัล ตอนที่ 5 : ผลตอบแทนที่สูงจาก DeFi ได้มาอย่างไร

สวัสดีครับวันนี้โดยปกติแล้วผลตอบแทนใน DeFi ทั่วไปนั้นจะมีผลตอบแทนที่สูงกว่าการฝากเงินในระบบ Traditional Finance ซึ่งโดยทั่วไปเราจะเห็นผลตอบแทนอยู่ที่ประมาณ 7-20% ของ Stablecoin แต่อย่างไรก็ตามสำหรับคนที่เล่นมาซักพักก็จะเห็นว่าผลตอบแทนของ DeFi ในบางคู่เหรียญนั้นสูงมากจนถึงระดับ 1000% เลยทีเดียว ซึ่งคำถามคือมันเกิดขึ้นได้อย่างไร เราจะมาเล่าให้ฟังกัน

ผลตอบแทนจากการใช้งาน

จากที่เราได้อธิบายในตอนแรกๆไปแล้วว่าโดยทั่วไปนั้นแพลตฟอร์ม DeFi นั้นจะนำค่าธรรมเนียมอันเกิดจากการใช้งานของผู้ใช้งานทั่วไปมาจ่ายให้แก่ผู้ที่ฝากเงินเป็นสภาพคล่องเข้าไปในแพลตฟอร์มเช่น

  • แพลตฟอร์ม Swapping ของ Uniswap หรือ PancakeSwap ที่นำค่าธรรมเนียมของผู้ที่มาแลกเปลี่ยนคู่เหรียญมาจ่ายให้คนที่ฝากเหรียญในระบบ
  • แพลตฟอร์มกู้ยืมอย่าง Compound หรือ Venus ที่นำดอกเบี้ยของผู้กู้มาจ่ายให้แก่ผู้ที่ปล่อยกู้ซึ่งอัตราดอกเบี้ยนี้ ก็จะแปรผันไปตามความต้องการระหว่างผู้กู้และผู้ปล่อยกู้

เพราะฉะนั้นยิ่งแพลตฟอร์มมีการใช้งานมากแค่ไหน ก็ยิ่งจะทำให้ผลตอบแทนของเรามากขึ้นเท่านั้น เช่นคู่เหรียญที่เป็นที่นิยมอย่าง BNB-USDT บนแพลตฟอร์ม Pancakeswap นั้นมีผลตอบแทนจากค่าธรรมเนียมมากกว่า 30% ต่อปีในบางเวลา เพราะมีปริมาณการซื้อขายสูง

ผลตอบแทนจาก Governance Token

ในหลายแพลทฟอร์มนั้นเมื่อเราเอาฝากเงินเข้าไปเป็นสภาพคล่องแล้ว ผู้ใช้งานจะได้สิ่งที่เรียกว่า LP Token ซึ่งเป็นเหมือนหลักฐานสัญญาบน Smart contract ที่เราฝากเงินเข้าไปในแพลตฟอร์มนั้นๆ โดยผู้ใช้งานสามารถเอาเหรียญ LP Token นี้ไปทำการฝาก Stake ในแพลตฟอร์มต่อเพื่อรับเหรียญ Governance Token จากแพลทฟอร์มนั้นๆได้ ซึ่งตัว Governance Token นี้ก็มีมูลค่า ซึ่งเราสามารถขายได้ จึงนับเป็นผลกำไร Add-on ขึ้นมาจากค่าธรรมเนียมปกติที่เราได้

Note: การฝาก Stake คือการเปิด Contract ในรูปแบบหนึ่งที่อนุญาติให้แพลทฟอร์มสามารถเข้าถึง LP ของเราได้ โดยปกติแล้วในแพลตฟอร์ม DeFi ที่สร้างมาอย่างถูกต้องจะไม่ทำอะไรกับ Token ของเรา แต่มันจะมีความเสี่ยงในกรณีของแพลตฟอร์มที่ดูไม่น่าไว้วางใจ

Governance Token มีค่าได้อย่างไร?

สิ่งที่น่าสนใจคือตัว Governance Token นี้มีมูลค่าได้อย่างไร? เพราะแน่นอนว่ามันสามารถเพิ่มผลตอบแทนได้ค่อนข้างมาก เรามาทำความเข้าใจวิธีการรักษามูลค่าของ Governance Token กันดีกว่า

Governance Token เอาไปทำอะไรได้บ้าง?

ถ้าอธิบายให้ง่ายที่สุดแล้ว Governance Token นั้นคือ “หุ้นที่ไม่มีการปันผล” เพราะการถือเหรียญ Governance Token นี้โดยส่วนมากแล้วคุณจะไม่ได้ผลตอบแทนใดๆจากแพลตฟอร์ม (เว้นแต่ฝากเป็นคู่เหรียญหรือเอาไป Stake) เนื่องจากผลตอบแทนทั้งหมดจากค่าธรรมเนียมนั้นถูกจ่ายให้แก่ผู้ที่ฝากเป็นสภาพคล่องหมดแล้ว แต่ส่วนที่ทดแทนกันคือมันสามารถนำมาใช้ในการโหวตได้

  • ถูกใช้ในการตั้ง Proporsal ในการเปลี่ยนแปลงระบบ
  • ในบางแพลตฟอร์มจะมี Reserve Fund ซึ่งเราสามารถใช้เหรียญ Governance Token ในการเสนอใช้เงินจำนวนนั้นได้
  • เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยในแพลตฟอร์ม

กลายเป็นว่า Governance Token เหล่านี้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ไม่มีใครคาดเดาได้ เราจะประเมินยังไงว่า “ความสามารถในการควบคุมเปลี่ยนแปลง Platform แต่ไม่ได้รับผลตอบแทน” ควรจะมีค่าเท่าไหร่กัน และนั่นทำให้เกิดความย้อนแย้งขึ้นมา เพราะถ้าเรามองว่าในเมื่อเหรียญไม่มีปันผล มันก็ไม่ควรมีค่ามากมาย แต่การที่มีเงินล็อคอยู่ในแพลตฟอร์มที่มีการใช้งานจริง ก็เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่าเหรียญ Governance Token ที่มีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงเงินเหล่านี้ก็ต้องมีค่า

ทำความเข้าใจหลักการรักษาสมดุลราคาเหรียญของระบบ AMM

เรามาทำความเข้าในวิธีการกำหนดราคาของแพลทฟอร์ม Swap เหล่านี้ก่อน จากในบทที่แล้วเราจะได้เล่าคร่าวๆว่าแพลทฟอร์ม Dex แบบ AMM (automate maket maker) นั้นจะกำหนดราคาของเหรียญโดยอ้างอิงจากสัดส่วนของเหรียญทั้งสองด้าน

เพราะฉะนั้นมันแตกต่างจากกระดานเทรดทั่วไปที่เป็นแบบ Order Book ที่ราคาจะถูกกำหนดจากราคาที่ซื้อขายล่าสุด แต่เป็นอัตราส่วนของเหรียญไม่ว่าเหรียญนั้นจะมีจำนวนเท่าใด ยกตัวอย่างเช่นถ้าใน Pool หนึ่งมีเหรียญ X:USDT ในจำนวน 100 X:100 USDT นั่นแปลว่า X จะมีราคา 1 USDT ซึ่งก็ไม่ได้แตกต่างอะไรกับหากมี  X:USDT  ในจำนวน 10000 X:10000 USDT เหรียญ X ก็จะยังมีราคา 1 USDT คงเดิม

นอกจากนี้การซื้อขายด้วย AMM นั้นจะยังมีสิ่งที่เรียกว่า Price Impact อยู่ โดยระบบ AMM นั้นไม่เหมือน Order Book ที่เราสามารถตั้งราคาซื้อขายได้ การซื้อขายจึงเป็นการซื้อขายด้วยราคาเดียว แต่อย่างไรก็ตามมันก็จะมีปัญหาเรื่อง Volumn เข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะมันจะถูกควบคุมด้วยสมการ X*Y=K

ตัวอย่างเช่นถ้าเราต้องการซื้อ 100 USDC ใน pool uniswap ด้วย 100 Dai ที่มี 100 USDC:100 Dai มันจะกลายเป็นว่าเราจะได้เหรียญ USDC มาแค่ 50 USDC ที่เกิดจาก Price Impact  เพราะอย่างนั้นมันในทางเทคนิคแล้วเราจะไม่สามารถทำการซื้อเหรียญในข้างใดข้างหนึ่งจนหมด Pool ได้ และมันเป็นกระบวนการที่สามารถพยุงราคาเหรียญได้

การทำงานของฟาร์มซิ่งและการปั่นผลตอบแทน APY ด้วย Pool ของ Governance Token

ถ้าคุณได้ลองเข้าไปดูแพลตฟอร์ม DeFi อย่าง PancakeSwap และเข้าไปดูคู่ของ BNB-Cake คุณจะเห็นตัวเลข 40X ซึ่งมันหมายความว่าในคู่ BNB-Cake นี้แจกเหรียญ Cake เมื่อเทียบกับคู่เหรียญอื่นๆถึง 40 เท่าและจุดนี้เองเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้แพลทฟอร์ม DeFi หลายๆแห่งสามารถทำผลตอบแทน APY ได้ถึง 100-1000% ต่อปี

เมื่อฟาร์ม DeFi ถูกสร้างขึ้น สิ่งที่ฟาร์มจะทำคล้ายๆกันคือการแจกเหรียญดังนี้

  • กำหนดจำนวนเหรียญ Governance Token ที่จะแจก
  • ทำการแจกเหรียญ Governance Token ลงใน Pool ต่างๆโดยให้อัตราส่วนในการแจกเหรียญในคู่ Governance Token ไว้มากกว่า คู่เหรียญอื่นๆ เช่นแจกเหรียญ Cake ในคู่ BNB-Cake มากกว่า Pool อื่นๆ 40 เท่า

ทีนี้นี่คือจุดที่ค่อนข้างเป็นกลไกที่เราอาจจะเรียกได้ว่ามันเป็น Money Game ดีๆนี่เอง เพราะเราอย่าลืมว่าเหรียญนั้นจะค่อยๆถูกปล่อยเท่ากับว่า Supply ของมันจะน้อยมากในตอนแรก และเนื่องจากมูลค่าเหรียญนั้นถูกกำหนดจาก Pool ของเหรียญคู่นั้นโดยไม่จำเป็นว่าจะต้องมีเหรียญอยู่ใน Pool เท่าไหร่ เพราะมันคิดจากอัตราส่วนเท่านั้นซึ่งอาจจะเป็นจำนวนที่น้อย และเหรียญยังค่อยๆปล่อยๆมาเท่ากับว่าในช่วงแรกเหรียญจะมีจำนวนที่น้อยมาก

ด้วยจำนวนเหรียญที่น้อยทำให้การคงราคาเหรียญในช่วงแรกจึงไม่จำเป็นต้องใช้เงินมาก ทำให้เมื่อคำนวนราคาเหรียญกลับมาใน Pool ของ Governance Token มันจึงเป็นไปได้ที่ผลตอบแทนอาจจะสูงถึง 1000% ต่อปี ก็เป็นไปได้ เมื่อเทียบกับเหรียญที่ปล่อยออกมาตัวอย่างเช่น

  • Pool Cake-USDT จะปล่อยเหรียญออกมา 20000 Cake ต่อปี (ตัวเลขสมมติ)
  • ใน Pool มี 1000 Cake:1000 USDT เท่ากับว่าเหรียญ Cake = 1  USDT
  • นั้นเท่ากับ Pool นี้จะแสดงผลตอบแทนอยู่ที่ 20000/2000 = 1000% ต่อปี

เราจะเห็นว่าด้วยต้นทุนเพียงแค่ 2000 USD แพลทฟอร์มจะสามารถสร้างผลตอบแทนระดับ 1000% ได้สบายๆ และในบางกรณีหากแพลทฟอร์มนั้นแสดงผลตอบแทนแบบ APY แทน APR ซึ่งเป็นผลตอบแทนแบบทบต้น (โดยที่แพลตฟอร์มไม่ได้ทบต้นให้เราแต่อย่างใด) จาก 1000% มันจะกลายเป็น 1,925,283.27% ต่อปี อย่างน่าตกใจ

เพราะฉะนั้นมันจึงจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า “แชร์” หรือการหมุนเงินในรูปแบบหนึ่ง เราจะเห็นว่าด้วยเงินจำนวน น้อยนิดเราสามารถสร้างตัวเลข APY ที่เป็นผลตอบแทนจำนวนมหาศาลได้ทำให้มีคนยอมซื้อเหรียญ Governace Token เพื่อเก็งกำไรหรือแม้แต่เพิ่มเป็น Liquidity เพื่อการซื้อขายเหรียญใน Pool นั้น ซึ่งเราจะเห็นว่ามันง่ายมากที่จะดันราคาเหรียญในช่วงแรกๆจากการที่ Liquidity มันน้อยมากๆ การซื้อเหรียญเพียงน้อยนิดก็เพียงพอแล้วต่อการดันราคาเหรียญ

แน่นอนว่ามีคนซื้อก็ต้องมีคนขาย APY ในช่วงแรกจึงอาจผันผวนได้มาก มันจึงเป็นจิตวิทยาว่าราคาเหรียญและ APY จำนวนเท่าไหร่ที่จะดึงดูดใจนักลงทุนได้มากพอ เมื่อเวลาผ่านไปซักพักใน Pool นั้นมี Liquidity มากขึ้นถึงจำนวนหนึ่งความผันผวนของมันจะลดลงจากการที่ Price Impact มันลดลงไม่ว่าจะซื้อหรือจะขาย นั้นเป็นเหตุผลที่ฟาร์มหลายๆเหรียญเปิดตัวด้วย APY ที่สูงและเมื่อเวลาผ่านไป APY กลับลดลงและราคาเหรียญเริ่มนิ่ง

ซึ่งถ้าโดยพื้นฐานแล้วในระยะยาวฟาร์มนี้จะมีผลตอบแทนที่น้อยลงเรื่อยๆ เพราะทุกคนต่างเข้ามาเพื่อต้องการทำกำไร ซึ่งก็ขึ้นกับว่าแพลตฟอร์มนั้นจะมีลูกเล่นอะไรให้คนคิดว่าจะมีอนาคตที่น่าสนใจ เช่นการเพิ่มลูกเล่นแปลกๆอย่าง NFT, Lottery, IFO, การลิสเหรียญลง Exchange หรือแม้แต่การประกาศ Partner กับแพลตฟอร์มอื่นๆ ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าเหรียญต่อไป

อ่านย้อนหลังตอนก่อนหน้า

DeFi WTF!! Guide Book เส้นทางสู้การเป็นชาวนาดิจิทัล ตอนที่ 1 ปรับ Mindset ก่อนลงทุนใน DeFi

DeFi WTF!! Guide Book เส้นทางสู่การเป็นชาวนาดิจิทัล ตอนที่ 2 : ลงทุนความเสี่ยงต่ำด้วย Stablecoin ที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าธนาคาร

DeFi WTF!! Guide Book เส้นทางสู่การเป็นชาวนาดิจิทัล ตอนที่ 3 : การฟาร์มด้วย Cryptocurrency และการคำนวณ Impermanent loss

DeFi WTF!! Guide Book เส้นทางสู่การเป็นชาวนาดิจิทัล ตอนที่ 4 การตรวจสอบความน่าเชื่อถือของ Platform และการถอนเงินผ่าน Smart Contract

บทความที่คุณอาจสนใจ