Announcement เปลี่ยนจากตรงนี้

October 3, 2022
บทความ

วิธีการฝากเงิน (Lending) เพื่อรับดอกเบี้ยใน FTX

1) ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับการฝากเงิน (Lending) รับดอกเบี้ยใน FTX

ทุกวันนี้ แพลตฟอร์มกระดานเทรดต่างๆ รวมถึงแพลตฟอร์ม DApps ทั้งหลายนั้นก็มีการให้บริการฟีเจอร์ Lending/Borrowing เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการฝากเหรียญ Stablecoin หรือเหรียญคริปโตประเภทอื่นๆเพื่อรับดอกเบี้ยในการฝากเงิน โดยแต่ละแพลตฟอร์มก็จะมีจุดประสงค์ในการฝากเงิน, วิธีการจ่ายดอกเบี้ย, เปอร์เซ็นผลตอบแทนการจ่ายดอกเบี้ย รวมถึงเวลาในการจ่ายดอกเบี้ยที่ไม่เหมือนกันนั่นเอง

โดยหากอ้างอิงถึงแพลตฟอร์ม Decentralized Lending อย่าง Compound หรือ Aave ที่เปิดให้บริการบนบล็อกเชน Ethereum มานาน ลักษณะการฝากเงินของผู้ฝาก/ผู้ให้กู้ ก็เพื่อที่จะให้ผู้กู้ ซึ่งเป็นใครก็ได้จากทั่วทุกมุมโลก เข้ามากู้เงินจาก Pool เหรียญต่างๆที่มีสภาพคล่องเหรียญที่คนกู้ต้องการ หรือจะเป็นผู้ฝากเงินเอง ที่จะฝากสินทรัพย์ใดสินทรัพยืหนึ่งเข้าไป เพื่อใช้เป็นหลักประกัน (Collateral) ในการค้ำประกันเพื่อกู้เงินออกมาอีกทอดนึง เป็นต้น

ซึ่งถ้าเป็นจุดประสงค์ของการฝากเงิน (Lending) ในแพลตฟอร์มกระดานเทรดคริปโตทั่วไปอย่าง Binance หรือ FTX นั้น จะเป็นการฝากเงิน เพื่อที่จะให้ระบบสามารถนำเงินส่วนนี้ไปใช้งานต่อในการเทรดประเภท Margin Trading หรือ Leverage Trading ต่อได้

ยกตัวอย่างเช่น หากเราต้องการจะเปิด Long หรือ Short สินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่ง เราเพียงวางเงินค้ำประกัน (Collateral) ไว้บางส่วนก็สามารถปิดสัญญาเหล่านี้ได้แล้ว แต่หากมองถึงระบบหลังบ้านจริงๆนั้น การเปิดสัญญา Long หรือ Short ของ Trader นั้น ก็คือการยืนสินทรัพย์ (Short) เพื่อมาขายก่อน และการยืมเงิน (Long) เพื่อมาซื้อก่อน สินทรัพย์หรือเงินในส่วนนี้มาจากไหน? ก็มาจากการที่มีคนมาฝากเงิน (Lending) เพื่อปล่อยกู้ให้ระบบหลังบ้านของ Exchange ต่างๆสามารถทำงานได้อย่างราบรื่น

ซึ่งสำหรับ FTX แล้ว การฝากเงินเพื่อปล่อยกู้นั้น เงินของเราจะถูกใช้งานสำหรับ Margin Trading และ Leverage Trading เช่นเดียวกันกับกระดานเทรดที่อื่น แต่สิ่งที่แตกต่างออกไปคือ ดอกเบี้ยจากการฝากเงิน/ปล่อยกู้ของ FTX จะผันผวนตลอดเวลา ตามการใช้งานและการเข้ามากู้ยืมของ Trader จาก Margin Trading เนื่องจากหน้าที่ของพวกเขาคือ เข้ามายืมสภาพคล่องเหรียญต่างๆจากคนที่ฝากเงิน/ปล่อยกู้ และให้ดอกเบี้ยจากการกู้แก่คนที่เข้ามาฝาก ซึ่งถ้า Trader ต้องการเข้ามากู้ยืมเหรียญที่มีการกู้ยืมออกไปมาก พวกเขาก็จะต้องจ่ายดอกเบี้ยที่มากขึ้นตาม Utilization ของเหรียญนั้นๆ จึงทำให้คนฝากเงินอย่างเราๆ ก็มีโอกาสที่จะได้รับดอกเบี้ยการฝากที่มากขึ้นตามไปด้วยเช่นเดียวกัน

โดยดอกเบี้ยการกู้ที่ทาง FTX คิดค่าบริการกับ Trader ใน Margin Trading จะคิดอยู่ราวๆ 20% ของดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย ยกตัวอย่างเช่น หาก Trader รายนั้นจะต้องจ่ายดอกเบี้ยจำนวน $100 ให้กับคนที่ฝากเงิน/ปล่อยกู้ ทาง FTX จะคิดค่าบริการ $20 และอีก $80 ก็จะถูกส่งไปให้กับคนที่เข้ามาฝากเงิน/ปล่อยกู้ เป็นต้น

2) ภาพรวมของการฝากเงิน/ปล่อยกู้ใน FTX

ในเริ่มแรกนั้น เราสามารถไปที่หน้า Dashboard การฝากเงินได้สองวิธี โดยในรูปแรกนั้น หลังจากเราล็อคอินเข้าแพลตฟอร์ม FTX แล้ว ก็จะปรากฎหน้านี้ขึ้นมา ผู้ใช้งานสามารถกดคำว่า “Lend” ที่ด้านหลังของเหรียญต่างๆได้เลย เนื่องจากแพลตฟอร์ม FTX นั้นสามารถให้ผู้ใช้งานฝากเงิน/ปล่อยกู้ สามารถฝากสภาพคล่องเหรียญต่างๆได้เกือบทุกเหรียญที่ FTX ลิสต์ในกระดานเทรดเลย

ส่วนอีกวิธีนึงในการเข้าหน้า Dashboard ตามรูปที่สองก็คือ ในมุมขวาบน เราสามารถกดไปที่ “กระเป๋าเงิน (Wallet)” และกดที่คำว่า “ยืม/ให้ยืม (Borrow/Lending) ได้เลย ซึ่งไม่ว่าจะเข้าหน้า Dashboard ด้วยวิธีไหนก็ตาม ขั้นตอนในการฝากเงิน/ปล่อยกู้จะไม่แตกต่างกันเลยนั่นเอง

โดยต้องเกริ่นก่อนว่า ดอกเบี้ยจากการฝากเงิน/ปล่อยกู้ใน FTX นั้น ทาง FTX จะจ่ายดอกเบี้ยให้เราเป็นรายชั่วโมง และจะมีการคำนวณดอกเบี้ยใหม่ทุกๆชั่วโมงอ้างอิงตามความต้องการกู้เหรียญนั้นๆจาก Margin Trader อย่างที่กล่าวไว้ด้านบน 

ยกตัวอย่างเช่น หากชั่วโมงที่แล้ว เหรียญ USDT มีการจ่ายอัตราดอกเบี้ย 3% ต่อปี แต่ในระหว่างนั้นเอง มี Margin Trader เข้ามากู้เหรียญ USDT จำนวนมหาศาล ประกอบกับสภาพคล่องเหรียญ USDT ใน FTX เหลือน้อย Margin Trader คนนั้นก็จะต้องจ่ายดอกเบี้ยกู้ที่มากขึ้นกว่าเดิม จึงทำให้คนที่ฝากเงิน/ปล่อยกู้ก็จะได้รับดอกเบี้ยในชั่วโมงถัดไปที่มากขึ้นนั่นเอง

ในหน้า Dashboard นี้ ก็จะแสดงรายละเอียดของเหรียญต่างๆที่ FTX เปิดให้เราฝากเงิน/ปล่อยกู้ได้ โดยสังเกตได้จากสี่เหลี่ยมสีแดงที่เป็นตัวเลข Previous Lending Rate กับ Estimated Lending Rate สำหรับ Previous Lending Rate ก็คืออัตราดอกเบี้ยที่ทางแพลตฟอร์มจ่ายให้กับคนที่ฝากเงิน/ปล่อยกู้เหรียญนั้นๆในชั่วโมงที่แล้ว และ Estimated Lending Rate คืออัตราดอกเบี้ยประมาณการโดยคำนวนจากคนที่เข้ามากู้ในช่วงระหว่าง 1 ชั่วโมงที่ผ่านมา เป็นต้น

ซึ่งหากเลื่อนลงมาด้านล่าง เราก็จะเจอประวัติการจ่ายดอกเบี้ยของเหรียญต่างๆที่มีคนมาฝากเงิน/ปล่อยกู้รายชั่วโมง หากเราสนใจจะฝากเหรียญ Stablecoin เพียงอย่างเดียว เราก็สามารถ Filter เลือกเป็นข้อมูลการฝากเงิน/ปล่อยกู้ และอัตราดอกเบี้ยของ Stablecoin ตัวนั้นๆได้เช่นเดียวกันตามรูปด้านล่าง ก็จะเห็นว่า 9 ชั่วโมงที่ผ่านมา (ตั้งแต่เวลา 2.00-11.00) ทาง FTX มีการจ่ายดอกเบี้ยให้กับผู้ฝากเงิน/ปล่อยกู้ในเรท 2.5% ต่อปี และดอกเบี้ยรายชั่วโมงนี้ก็จะถูกโอนเข้า Wallet ของเราโดยตรงเลยนั่นเอง

หากเลื่อนลงมาด้านล่างอีก ก็จะเจอประวัติ 7 วันย้อนหลังว่าดอกเบี้ยจากการฝากเหรียญ USDT เป็นเท่าไรบ้าง ก็จะเห็นเลยว่าบางช่วงเวลาก็ได้เพียง 2% ต่อปี แต่ในช่วงพีคๆก็ได้มากถึง 4% ต่อปี เป็นต้น

3) ขั้นตอนการฝากเงิน/ปล่อยกู้ใน FTX

ผู้ใช้งานสามารถกดที่คำว่า Lend ตามรูปด้านบน หรือกดคำว่า ยืม (Lend) ตามรูปด้านล่างได้เลย ซึ่งพอเป็นเวอร์ชั่นภาษาไทยอาจจะมีบัคเล็กน้อย แต่หากใช้เป็นภาษาอังกฤษ รูปด้านล่างจะขึ้นคำว่า Lend เช่นเดียวกันครับ

หลังจากกดเข้ามาแล้วก็จะปรากฎหน้านี้ขึ้นมา ซึ่งคำเตือนอย่างนึงที่ผู้ฝากเงิน/ปล่อยกู้ต้องรู้ก็คือ เงินที่เราฝากไว้สามารถถอนออกได้ตลอดเวลา แต่หากสภาพคล่องของเหรียญที่เราจะฝากใน FTX เหลือน้อย ประกอบกับผู้กู้ก็เข้ามากู้เช่นเดียวกัน เงินของเราอาจจะไม่สามารถถอนได้เป็นเวลา 1 ชั่วโมง ซึ่ง Cooldown 1 ชั่วโมงนี้ ก็เพื่อที่จะให้ Margin Trader เข้ามาคืนสภาพคล่องที่ยืมไป หรือรอผู้ใช้งานคนอื่นเข้ามาฝากเงินเพิ่มนั่นเอง

อย่างที่บอกว่า อัตราดอกเบี้ยจะเป็นไปตามกลไกตลาด หากในตอนนั้นเหรียญๆนึงมีสภาพคล่องเหลือน้อย ดอกเบี้ยเงินกู้ก็จะสูงขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ Margin Trader เข้ามากู้เพิ่ม รวมไปถึงดอกเบี้ยเงินฝากก็จะสูงขึ้น เพื่อจูงใจให้คนเข้ามาฝากเงินอีกด้วย 

หากในระหว่าง Cooldown 1 ชั่วโมงนี้ แน่นอนว่าจะต้องมี Margin Trader คนอื่นๆรีบเอาเงินที่กู้ไปมาคืน เพื่อที่จะได้หลีกเลี่ยงดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงได้ เนื่องจากดอกเบี้ยเงินกู้ก็มีการเปลี่ยนแปลงทุกชั่วโมงเช่นเดียวกันกับดอกเบี้ยเงินฝาก รวมถึงมันก็จะจูงใจให้ผู้ใช้งานเอาเงินเข้ามาฝากเพิ่มอีกด้วย ซึ่งตัวผู้เขียนเอง เคยเจอช่วงเวลาหนึ่ง ที่ดอกเบี้ยเงินฝาก Stablecoin อย่าง USDT เคยสูงถึง 60% ต่อปีเลยทีเดียว แต่ตัวเลขก็อยู่สูงแบบนี้เพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น เนื่องจากคนฝากก็เอามาฝากเพิ่มขึ้นเยอะ แถมคนกู้ก็รีบเอาเงินกู้มาคืน สุดท้ายดอกเบี้ยก็จะกลับเข้าสู่ดุลยภาพ เป็นต้น

จากนั้น เราก็เลือกเหรียญและจำนวนเหรียญที่เราต้องการฝาก และอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องสังเกตคือ อัตราขั้นต่ำรายชั่วโมง (Minimum Hourly Rate) และอัตราขั้นต่ำรายปี (Minimum Yearly Rate) ตัวเลขเหล่านี้เราสามารถ Custom เองได้ ว่าเราต้องการดอกเบี้ยเงินฝากขั้นต่ำเท่าไร

ซึ่งผู้เขียนก็แนะนำว่า ให้ใส่ไว้ที่ 0% เป็นขั้นต่ำเลยก็ได้ เนื่องจากเราจะได้รับดอกเบี้ยการฝากในทุกชั่วโมงเลยไม่ว่าจะน้อยหรือมากแค่ไหนก็ตาม แต่หากเราตั้งเอาไว้สูงมากๆ เช่น 60% ต่อปี เงินฝากของเราจะถูกนำไปปล่อยกู้ก็ต่อเมื่อ ในชั่วโมงนั้นดอกเบี้ยเงินฝากใน FTX ขึ้นไปสูงจนแตะ 60% ต่อปีเท่านั้น

หลังจากเลือกค่าต่างๆเสร็จ ก็กดบันทึกได้เลย เป็นอันเสร็จสิ้นการฝากเงิน/ปล่อยกู้ใน FTX นั่นเองครับ

4) ความเสี่ยงของการฝากเงิน/ปล่อยกู้ใน FTX

หากเราฝากเงินเป็น Fiat หรือ Stablecoin นั้น เงินของเราแทบไม่มีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับเงินต้นคืนหรือไม่ได้รับดอกเบี้ยเลย เนื่องจากตามกลไกหลังบ้านของ FTX นั้น หาก Margin Trader เกิดการขาดทุนจนถึงระดับหนึ่ง เงินที่เขากู้ไปก็จะถูก Liquidate ทันที และเงินเหล่านั้น+ค่าปรับ ก็จะถูกนำกลับมาให้แก่คนที่ฝากเงิน/ปล่อยกู้เหมือนเดิม

แต่หากฝากเป็นเหรียญคริปโตอื่นๆเช่น BTC ETH ก็อาจจะมีความเสี่ยงเรื่องความผันผวนของราคาเกิดขึ้นได้ เช่น หากเราฝากเหรียญ ETH ไว้ และต้องการจะถอนออกมาขายที่ราคา Market Price แต่ในช่วงนั้นมี Margin Trader เข้ามากู้ยืม ETH จำนวนมาก ทำให้เงินต้นของเราจะต้องรอเวลา Cooldown 1 ชั่วโมง จึงทำให้เราอาจจะไม่สามารถขาย ETH ได้ในราคาที่เราต้องการนั่นเอง 

โดยสรุปแล้ว การฝากเงิน/ปล่อยกู้ใน FTX นั้น หากมองในแง่อัตราดอกเบี้ยที่ได้รับ ก็อาจจะมีความน้อยกว่าการฝากเงิน/ปล่อยกู้ที่ Exchange อื่นบ้าง แต่ข้อดีตรงนี้ก็คือ อัตราดอกเบี้ยนั้นจะเป็นไปตามกลไกตลาดจริงๆ หากมีคนเข้ามากู้เยอะ เราก็ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากเยอะขึ้นตามไปด้วย แต่ในบาง Exchange ที่มีการ Fix อัตราดอกเบี้ยเงินฝากไว้ ก็อาจจะเป็นที่จูงใจให้คนเข้าไปฝากได้ในระยะสั้น

แต่หากในอนาคต Utilization ของเหรียญนั้นๆมีน้อย มีคนมากู้น้อย Exchange ก็สามารถเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากได้ทุกเมื่อ ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจทำให้นักลงทุนให้ความน่าเชื่อถือที่ลดลงต่อ Exchange เหล่านั้นไม่มากก็น้อยเลย เป็นต้น

บทความที่คุณอาจสนใจ