Bitcoin Addict เปลี่ยนเว็บไซต์ใหม่เป็น www.bitcoinaddict.com

January 2, 2025
บทความ
3
min read

Market Maker และ Taker คืออะไร? มีหน้าที่อะไร?

Market Maker คือ คนที่มีบทบาทสำคัญในการรักษาสภาพแวดล้อมการซื้อขายให้ทำงานได้อย่างราบรื่น ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งสภาพคล่องของตลาด , ความผันผวน , และค่าธรรมเนียมการซื้อขาย

ในการซื้อขายคริปโตนั้นเราจะพบผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดการเปลี่ยนแปลงของตลาดได้แก่  : Market Maker  และ Market Taker โดยสิ่งสำคัญคือทั้งคู่มีผลในแง่ของ "สภาพคล่อง" 

แม้ว่าทั้งคู่จะมีแรงจูงใจที่แตกต่างกัน แต่ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ก็ช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับตลาดคริปโตได้ และยังเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่ทำให้ตลาดการเงินทุกประเภทให้สามารถดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และขับเคลื่อนโดยสภาพคล่องที่เป็นบทบาทหลักของ Market Maker และการส่งคำสั่งซื้อขายจากนักลงทุนในฐานะ Market Taker

สภาพคล่องคืออะไร ?

สภาพคล่องในตลาดคริปโตหมายถึงความสะดวกในการซื้อหรือขายสินทรัพย์คริปโต  โดยไม่ส่งผลกระทบต่อราคาอย่างมีนัยสำคัญ

Market makers และ Market Taker มีบทบาทสำคัญในการกำหนดสภาพคล่องในตลาดคริปโต รวมทั้งการทำความเข้าใจสภาพคล่องก็ถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับ Market makers และ Market Taker ในการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ และการเพิ่มผลกำไรสูงสุด

สภาพคล่องที่สูงหมายความว่ามีผู้ซื้อและผู้ขายจำนวนมาก ส่งผลให้สเปรดหรือช่องว่างของราคาแคบลง และทำให้สภาพแวดล้อมของตลาดมีเสถียรภาพมากขึ้น ในทางตรงกันข้าม หากเกิดสภาวะสภาพคล่องต่ำก็หมายถึงมีผู้เข้าร่วมน้อยลง สเปรดของราคาก็จะกว้างขึ้น และมีโอกาสสูงที่ราคาจะผันผวนอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเกิดมีคำสั่งซื้อจำนวนมาก

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อสภาพคล่อง 

  • ปริมาณโวลลุ่ม : ยิ่งมีโวลลุ่มมากเท่าไร สภาพคล่องก็จะยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น และโดยทั่วไปแล้วคริปโตที่มีปริมาณโวลลุ่มสูงจะถือว่ามีสภาพคล่องมากกว่า
  • จำนวนเว็บเทรด : สภาพคล่องอาจแตกต่างกันไปในเว็บเทรดคริปโตที่หนึ่งกับอีกที่หนึ่ง  ซึ่งเว็บเทรดหลัก ๆ ที่มีผู้ใช้จำนวนมากก็มักจะมีสภาพคล่องสำหรับเหรียญคริปโตยอดนิยมสูงกว่าเว็บเทรดที่ผู้ใช้น้อยกว่า
  • ความลึกของตลาด : ความลึกของตลาดเป็นการแสดงถึงขนาดของคำสั่งซื้อ ซึ่งจะระบุปริมาณคำสั่งซื้อและขายในระดับราคาต่าง ๆ ยิ่งมีการสั่งซื้อที่ลึกขึ้นก็หมายถึงสภาพคล่องที่สูงขึ้นตามไปด้วย
  • ความนิยมของสินทรัพย์: เหรียญคริปโตยอดนิยม เช่น Bitcoin และ Ether เป็นเหรียญที่มีการซื้อขายสูง มักจะมีสภาพคล่องที่ดีกว่า เนื่องจากการนำไปใช้และใช้งานอย่างแพร่หลาย
  • ช่วงเวลาทำการ : สภาพคล่องมักจะสูงในช่วงเวลาทำการหลักของตลาดนั้น ๆ  และอาจลดลงนอกช่วงเวลาดังกล่าว
  • สถานการณ์ตลาด : ในช่วงที่มีสถานการณ์ผิดปกติ เช่น วิกฤตการเงิน หรือความผันผวนสูง สภาพคล่องก็มักจะลดลงเนื่องจากความกังวลของนักลงทุน
  • กฎระเบียบและนโยบาย : กฎระเบียบบางอย่างก็อาจส่งผลดีหรือผลเสียต่อสภาพคล่องได้ เช่น การกำหนดวงเงินซื้อขายรายวัน หรือมีการจำกัดสภาพคล่อง

และจากปัจจัยที่กล่าวมา ผู้ที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนสภาพคล่องในตลาดเหล่านี้ก็คือ Market Maker และ Market Taker 

ภาพจาก cointelegraph.com

Market Makers คืออะไร?

Market makers จะวางคำสั่งซื้อและขายในราคาที่กำหนด โดยเป็นได้ทั้งนิติบุคคลหรือบุคคลในการจัดหาสภาพคล่องให้กับตลาด และทำงานอย่างใกล้ชิดกับเว็บเทรดคริปโตเพื่อให้สภาพคล่องแก่ตลาดและอำนวยความสะดวกในการซื้อขายที่ราบรื่น

Market makers ทำงานโดยการสร้างคำสั่งซื้อหรือขายสินทรัพย์ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ล่วงหน้า เช่นถ้ามีคนสั่งซื้อเหรียญ SOL 3 เหรียญที่ราคา 58 ดอลลาร์ คำสั่งซื้อจะได้รับการดำเนินการทันทีที่ราคา SOL ถึงระดับ $58 ดังนั้น Market makers จึงเป็นผู้ "สร้าง" ตลาดโดยการวางคำสั่งซื้อไว้ในสมุดคำสั่งซื้อ

เราอาจเปรียบ Market Maker ได้เหมือนกับพ่อค้าขายของในตลาดที่จะต้อง

  1. เตรียมสินค้า
  • พ่อค้าต้องมีสินค้าให้เลือกซื้อขายหลากหลายชนิด เช่น ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ เป็นต้น (เปรียบเสมือนพอร์ตการลงทุนของ Market Maker)
  1. ตั้งราคาซื้อขาย
  • ก่อนเปิดร้าน พ่อค้าต้องตั้งราคาขายสินค้าของตนเอง เช่น กิโลกรัมละ 30 บาท แต่ที่จะรับซื้อคืนนั้นต้องถูกกว่า เช่น กิโลกรัมละ 25 บาท
  • ราคาขายจะสูงกว่าราคารับซื้อเล็กน้อย เป็นการรักษากำไรไว้สำหรับการทำธุรกิจ
  1. เปิดร้านขายและรับซื้อคืน
  • เมื่อลูกค้ามาซื้อสินค้า พ่อค้าก็ขายให้ในราคาขาย
  • ถ้าลูกค้าเหลือสินค้าไม่หมด พ่อค้าก็ยินดีรับซื้อคืนในราคารับซื้อ
  • การตั้งราคาขายสูงกว่ารับซื้อนี้ ทำให้พ่อค้ามีรายได้หมุนเวียน
  1. รักษาสมดุลสต็อก
  • หลังจากขายและรับซื้อไปมาสักพัก อาจทำให้สต็อกบางอย่างเกินหรือขาดไป
  • พ่อค้าต้องซื้อสินค้ากลับมาเติมสต็อกที่ขาด หรือขายสินค้าที่เกินออกไปบ้าง เพื่อให้มีสมดุลพร้อมขาย
  1. ปรับตัวตามสถานการณ์
  • ในบางวันร้อนจัด ผักและผลไม้อาจเน่าเสียง่าย ต้องลดราคาขายเพื่อระบายสต็อก
  • ถ้าทราบว่าเนื้อสัตว์จะขาดตลาดในสัปดาห์หน้า ก็ต้องเก็บสต็อกไว้เพิ่มและปรับราคาขายสูงขึ้น
  • การปรับกลยุทธ์ตามสถานการณ์เพื่อให้ธุรกิจคงอยู่ได้

แม้การทำงานของ Market Maker จะซับซ้อนกว่าตัวอย่างนี้มาก แต่กลไกหลัก ๆ ก็คือ การสร้างสภาพคล่องโดยการซื้อขาย , รักษาสมดุลสต็อก , และปรับตัวให้เหมาะสมกับสภาวะตลาด เพื่อรักษาการไหลเวียนและเสถียรภาพให้ตลาดคงอยู่ได้

Market Taker คืออะไร?

Market Taker คือบุคคลหรือนิติบุคคลที่เป็นผู้ส่งคำสั่งซื้อที่ตรงกับคำสั่งซื้อที่มีอยู่ในคำสั่งซื้อ  ต่างจาก market maker ที่ให้สภาพคล่องโดยการวางคำสั่งซื้อ โดย market taker คือคนที่จะ 'รับ' สภาพคล่องโดยดำเนินการซื้อขายกับคำสั่งซื้อที่มีอยู่

Market Taker อาจเป็นได้ทั้ง Market Order และ Limit order แต่มักนิยม Market Order ซึ่งเป็นคำสั่งในการซื้อหรือขายสินทรัพย์ในราคาที่ดีที่สุดในตลาด ซึ่งคำสั่ง Market Order จะดำเนินการในราคาตลาดที่มีอยู่ เพื่อความรวดเร็ว แต่ไม่ได้รับประกันราคาที่เฉพาะเจาะจง

ในตลาดคริปโต ตัวอย่างของ Market Taker มีดังนี้

  1. นักลงทุนรายย่อย
  • นักลงทุนรายย่อยที่ซื้อขายคริปโตผ่านแพลตฟอร์มเทรดต่าง ๆ ก็ถือเป็น Market Taker
  1. นักเก็งกำไรระยะสั้น
  • นักลงทุนที่ซื้อขาย Bitcoin, Ethereum หรือคริปโตอื่น ๆ เพื่อแสวงหากำไรจากความผันผวนของราคาในระยะสั้น ก็ถือเป็น Market Taker ได้เช่นกัน
  1. กองทุนคริปโต
  • กองทุนที่ลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นกองทุนรวมหรือกองทุนเฮ็ดจ์ฟันด์ เมื่อมีการซื้อขายตามนโยบายลงทุน ก็ถือเป็น Market Taker
  1. นักขุดเหรียญดิจิทัล
  • นักขุดเหรียญ (Miner) เมื่อทำการขายคริปโตที่ขุดได้ในแพลตฟอร์มการซื้อขาย ก็ถือเป็น Market Taker เช่นกัน
  1. การซื้อขายใน Decentralized Exchange (DEX)
  • ผู้ที่ทำการซื้อขายโดยตรงในแพลตฟอร์มแบบกระจายอำนาจ (DEX) โดยไม่ผ่าน Market Maker ก็ถือได้ว่าเป็น Market Taker ด้วยเช่นกัน

ดังนั้นเราอาจสรุปสั้น ๆ ได้ว่า Market Maker ก็คือคนสร้างสภาพคล่อง ในขณะที่ Market Taker คือคนที่ดำเนินการสภาพคล่องนี้

ความสำคัญของ Market Maker และ Taker

ความสำคัญของ Market Maker และ Market Taker สรุปได้ดังนี้

Market Maker:

  • สร้างสภาพคล่องให้ตลาด ทำให้สามารถซื้อขายได้ตลอดเวลา
  • กำหนดราคาตลาด ช่วยลดความผันผวนของราคา
  • รักษาดุลยภาพระหว่างคำสั่งซื้อและขาย
  • ได้รับค่าธรรมเนียนเป็นรายได้จากการสร้างสภาพคล่อง

Market Taker:

  • ใช้สภาพคล่องที่ Market Maker สร้างขึ้นในการซื้อขาย
  • จ่ายค่าธรรมเนียมให้ Market Maker เป็นค่าตอบแทน
  • เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการซื้อขายและการหมุนเวียนในตลาด

ความสมดุลระหว่างบทบาทของ Market Maker ในการสร้างสภาพคล่อง และบทบาทของ Market Taker ในการใช้สภาพคล่องนั้น มีส่วนทำให้ตลาดสามารถดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ  และทำให้เกิดการซื้อขายที่คล่องตัว , ราคาที่เป็นธรรม และไม่ผันผวนจนเกินไป

สรุป 

Market Maker คือผู้สร้างสภาพคล่องให้กับตลาด โดยการประกาศราคาซื้อขายสินทรัพย์อย่างต่อเนื่อง เมื่อมีคำสั่งซื้อขาย Market Maker จะเข้าเป็นคู่สัญญา และได้รับค่าธรรมเนียมเป็นรายได้ และมีหน้าที่รักษาดุลยภาพของตลาด

Market Taker คือนักลงทุน , กองทุน , หรือผู้ที่ส่งคำสั่งซื้อขายในราคาที่ Market Maker ประกาศ และถือเป็นผู้ใช้สภาพคล่อง โดยต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้ Market Maker เป็นค่าตอบแทน

ความสมดุลของทั้งสองบทบาทนี้ ทำให้ตลาดสามารถดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีสภาพคล่อง ราคาเป็นธรรม สามารถซื้อขายได้ตลอดเวลา และมีการหมุนเวียนของการซื้อขาย

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อสภาพคล่อง อาทิ ขนาดตลาด ความนิยมสินทรัพย์ ช่วงเวลาซื้อขาย สถานการณ์ตลาด กฎระเบียบ เทคโนโลยี และการกระจายข้อมูล ซึ่งส่งผลให้ Market Maker ต้องปรับกลยุทธ์อยู่เสมอ

บทความที่คุณอาจสนใจ