Bitcoin Addict เปลี่ยนเว็บไซต์ใหม่เป็น www.bitcoinaddict.com
หลายคนในโลกคริปโตอาจไม่ทราบว่า ณ สิ้นปี 2023 เครือข่าย Bitcoin ที่เราใช้งานกันอยู่นั้นมีมากกว่า 70 เวอร์ชันในทางเทคนิค นี่เป็นเพราะฟังก์ชันบนบล็อกเชนที่เรียกว่าการ ฟอร์ก (FORK) ซึ่งเกิดขึ้นมาแล้วมากกว่า 100 ครั้งตลอดประวัติศาสตร์ของ Bitcoin
การ Hard Fork พูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ การอัปเกรดซอฟต์แวร์ของเครือข่ายบล็อคเชนเพื่อแยกเครือข่ายบล็อคเชนออกเป็นสองเครือข่ายหรือมากกว่านั้น โดยจะเกิดขึ้นเมื่อโหนดบนโปรโตคอลเวอร์ชันใหม่ล่าสุดไม่ยอมรับบล็อกเชนเวอร์ชันเก่า
ในทางเทคนิคแล้ว การปรับเปลี่ยนเครือข่ายบล็อกเชนจะบังคับให้โหนดทั้งหมดต้องปฏิบัติตามและอัปเกรดเป็นโปรโตคอลเวอร์ชันใหม่ล่าสุด แต่อย่างไรก็ตามอาจจะมีบางส่วนที่ยังอยากดำเนินการต่อไปตามเส้นทางเก่า ซึ่งการขาดความเห็นพ้องต้องกันหรือที่เราเรียกว่า consensus นี้ส่งผลให้โปรโตคอลที่อัปเกรดแล้วถูกแยกออกจากเวอร์ชันก่อนหน้าอย่างถาวร
ลักษณะของการเกิด Hard Fork นั้นแบ่งเป็นการเกิดโดยเจตนาของผู้พัฒนา (Intentional Fork) หรือเกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ (Accidental Fork) โดยอาจมาจากข้อผิดพลาดของซอฟต์แวร์หรือปัญหาทางเทคนิคอื่น ๆ และยังสามารถเกิดขึ้นได้เมื่อมีการเปิดตัวซอฟต์แวร์เวอร์ชันใหม่แต่ยังมีผู้ใช้บางรายที่ยังคงใช้เวอร์ชันเก่าต่อไปจึงส่งผลให้มีเครือข่ายแยกออกจากกันเป็นสองเครือข่าย นอกจากนี้การ Fork โดยไม่ได้ตั้งใจนั้นยังเสี่ยงต่อข้อมูลหรือเงินทุนของผู้ใช้สูญหายได้หากไม่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม
การ Fork นั้นเราจะแบ่งได้ 2 ประเภทกว้าง ๆ นั่นคือ : Soft fork และ Hard fork โดยในบทความนี้ เราจะมาทำความรู้จักถึงความแตกต่างระหว่าง soft fork และ hard fork และผลกระทบที่มีต่อชุมชนคริปโตกัน
Hard Fork และ Soft Fork นั้นถือเป็นกระบวนการที่มีความคล้ายกัน แต่ให้ผลลัพธ์ที่ต่างกัน โดยการ Hard Fork นั้นมีลักษณะที่รุนแรงกว่า Soft fork ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากความขัดแย้งระหว่างคน 2 กลุ่มหรือมากกว่านั้น
แม้ว่าทั้ง 2 ประเภทจะส่งผลกระทบต่อโปรโตคอลเหมือนกัน แต่ก็มีความแตกต่างกันอย่างมากในลักษณะและผลที่ตามมา แบ่งเป็น
ตัวอย่างที่โดดเด่นของการ Hard Fork ก็คือการสร้าง Bitcoin Cash จากเครือข่าย Bitcoin ในปี 2017 ซึ่งการ Hard Fork ในเครือข่าย Bitcoin ส่งผลให้เกิดสกุลเงินดิจิทัลใหม่ที่รู้จักกันในชื่อ Bitcoin Cash (BCH) และ Bitcoin Gold
การ Hard Fork Bitcoin Cash นั้นเป็นผลมาจากความขัดแย้งภายในชุมชน Bitcoin เกี่ยวกับวิธีการขยายขนาดเครือข่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งผลลัพธ์ในตอนสุดท้ายก็คือการ Hard Fork ในบล็อกเชน ทำให้เกิด Bitcoin Cash โดยมีขนาดบล็อกเพิ่มขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมที่รวดเร็วยิ่งขึ้น
อีกหนึ่งตัวอย่างในการ fork ที่มีชื่อเสียงที่สุดในประวัติศาสตร์คริปโต เกิดขึ้นบนเครือข่าย Ethereum ในปี 2016 โดย DAO (องค์กรอิสระแบบกระจายอำนาจ) ที่สร้างขึ้นบน Ethereum ถูกแฮ็กเสียหายกว่า 60 ล้านดอลลาร์ (2,212 ล้านบาท) ทำให้ชุมชน Ethereum ลงมติให้ดำเนินการ Hard Fork แต่ก็มีนักพัฒนาบางส่วนไม่เห็นด้วยและไม่อยากเปลี่ยนแปลง จึงทำให้ต้องแยกบล็อคเชนออกเป็น 2 เครือข่ายคือ : Ethereum (ETH) และ Ethereum Classic (ETC) ซึ่งนักพัฒนาหลักของเครือข่าย ต่างย้ายไปยังเครือข่ายใหม่อย่าง Ethereum (ETH) ส่วน Ethereum Classic (ETC) ถูกชุมชนส่วนใหญ่ละทิ้ง
การ Hard Fork มักจะตามมาด้วยการสร้างโทเค็นใหม่เสมอ แต่เราต้องจำไว้ให้ดีว่ามันไม่ได้รับประกันว่าโทเค็นที่เราได้จากการ Fork เหล่านั้นจะมีมูลค่า และหลายโทเค็นก็อาจจบลงด้วยการไม่เหลือมูลค่าในที่สุด
หากวันใดวันหนึ่งโทเค็นที่เราถือนั้นมีการ Fork ให้เราคิดไว้เสมอว่ามันจะมีผลต่อมูลค่าของโทเค็นที่เราถืออย่างเลี่ยงไม่ได้ เช่น มูลค่าอาจลดลงอย่างมากหากการ fork ไม่สำเร็จหรือหากมีปัญหาอื่น ๆ เกิดขึ้น แต่ความเสี่ยงก็ตามมาด้วยผลตอบแทน หากการ fork ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมันเป็นการปรับปรุงเครือข่ายให้ทำงานได้ดีขึ้น
จากการที่ตลาดคริปโตยังคงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การ Hard Fork จึงยังคงเป็นสิ่งที่เราจะได้พบเห็นอีกอย่างแน่นอนในอนาคต โดยมันอาจเป็นทั้งโอกาสที่มาพร้อมกับความเสี่ยงรวมถึงการสูญเสีย เนื่องจากวิวัฒนาการของตลาดคริปโตนั้นรวดเร็วและบางครั้งก็คาดเดาไม่ได้
ท้ายที่สุดแล้ว เราควรรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหากเกิดการ Fork และทำความเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวว่าส่งผลกระทบต่อการลงทุนของตนอย่างไร