Announcement เปลี่ยนจากตรงนี้
1) Layer 2 คืออะไร?
2) Optimism คืออะไร?
3) “Optimism Collective” วิธีการกำกับดูแลรูปแบบใหม่ในวงการคริปโต
4) ความเสี่ยง [ความคิดเห็นส่วนตัว]
***หากใครรู้จัก Layer 2 แล้ว สามารถข้ามไปอ่านในหัวข้อ 2) ได้เลย***
อย่างที่เราทราบกันดีว่า เครือข่าย Ethereum นั้นมีการรองรับการทำธุรกรรมได้เพียง 15 ธุรกรรมต่อวินาทีเท่านั้น จึงเป็นผลให้ในช่วงเวลาที่มีคนใช้งานเครือข่ายเป็นจำนวนมาก จะทำให้เครือข่ายยืนยันธุรกรรมได้ช้าลง แถมมีค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมที่แพงขึ้นอีกด้วย โดยในช่วงปี 2017-2019 ผู้คนยังรู้จัก DeFi หรือ DApps ตัวอื่นๆกันในวงแคบเท่านั้น ทำให้ไม่มีใครคิดถึงข้อเสียที่ใหญ่ที่สุดที่จะตามมาหากมีคนใช้งานเยอะๆ
จนกระทั่งปี 2020-2021 ที่ใครหลายๆคนเรียกว่าเป็นช่วงของ “DeFi Summer” นั้นมีการใช้งาน DApps ในจำนวนที่มากขึ้น ส่งผลให้เครือข่าย Ethereum ทำงานได้ช้าลงอย่างเห็นได้ชัด และมีค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมที่แพงเป็นอย่างมาก จึงส่งผลให้มีบล็อคเชนต่างๆตัวใหม่ๆถือกำเนิดขึ้นมากมายไม่ว่าจะเป็น BSC, Polygon, Fantom, Avalanche เพื่อที่จะแก้ Pain Point หลักของ Ethereum
แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีกลุ่มบริษัทหรือกลุ่ม Community ต่างๆที่ต้องการจะพัฒนาบล็อคเชนใหม่ๆ ที่จะสามารถเพิ่มความเร็วในการทำธุรกรรมได้ แถมยังสามารถลดค่าธรรมเนียมธุรกรรมให้มีมูลค่าพอๆกับบรรดา Ethereum Killer ได้เลย และยังคงความปลอดภัยให้เหมือนกับการใช้งานใน Ethereum เชนหลักอีกด้วย บล็อคเชนเหล่านี้เรียกว่า Layer 2 นั่นเองครับ
หากใครนึกภาพ Layer 2 ไม่ออก ให้ลองจินตนาการว่า Ethereum เชนหลักนั้นเปรียบเสมือนถนนหลักเส้นหนึ่ง ที่มีการจราจรติดขัดเป็นอย่างมาก ซึ่งการจราจรติดขัดนั้นก็เพราะถนนมีเลนสำหรับให้รถวิ่งน้อย หรือก็เปรียบเสมือน Ethereum ที่สามารถรองรับธุรกรรมได้เพียง 15 ธุรกรรมต่อวินาทีเท่านั้น และ Layer 2 ก็เปรียบเสมือนทางลัดในซอย ที่จะสามารถให้รถยนต์สามารถขับผ่านเข้าไป เพื่อหลีกเลี่ยงรถติดได้ แถมยังถึงที่หมายเร็วกว่ารถยนต์บนถนนเส้นหลักอีกต่างหาก ซึ่งมันก็เปรียบเสมือนการทำธุรกรรมใน Ethereum นั้น สามารถที่จะย้ายไปทำธุรกรรมใน Layer 2 ได้ มีความเร็วกว่าการทำธุรกรรมใน Ethereum เชนหลัก แถมยังมีค่าธรรมเนียมที่ถูกกว่าเป็นอย่างมากอีกด้วย และสุดท้าย ธุรกรรมเหล่านั้นก็จะถูกกลับมาบันทึกลงใน Ethereum เชนหลัก
ซึ่ง Layer 2 ในปัจจุบันก็มีหลากหลายเทคโนโลยีมาก ไม่ว่าจะเป็น Validium, Plasma, Optimistic Rollups, zk-Rollups ซึ่งแต่ละเทคโนโลยีก็มีวิธีการที่ทำให้ธุรกรรมเร็วขึ้นที่แตกต่างกัน และแต่ละเทคโนโลยีนั้นก็มีบริษัทหรือกลุ่มคนที่เข้ามาพัฒนาหลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็น StarkWare ที่เข้ามาพัฒนาเทคโนโลยี Validium, Polygon และ OMG Network ที่เข้ามาพัฒนาเทคโนโลยี Plasma, Loopring และ zkSync ที่เข้ามาพัฒนาเทคโนโลยี zk-Rollups รวมไปถึง Arbitrum และ Optimism ที่เข้ามาพัฒนาเทคโนโลยี Optimistic Rollups นั่นเอง
Optimism เป็น Layer 2 ของ Ethereum ที่ใช้เทคโนโลยี Optimistic Rollups ในการเข้ามาช่วยลดค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรม เพิ่มความเร็วในการทำธุรกรรม แถมยังคงความปลอดภัยเหมือนกันใช้งาน Ethereum เชนหลักอีกด้วย โดย Optimism ก็จะมีเหรียญ OP Token เป็นโทเค็นกำกับดูแล (Governance Token) ประจำเครือข่ายนั่นเอง
โดยเทคโนโลยี Optimistic Rollups นั้น จะมีวิธีการเพิ่มความเร็วในการธุรกรรม โดยจะทำการเก็บรวบรวมธุรกรรมไว้เป็นจำนวนมากๆ แล้วม้วนรวมกัน (Rollups) และทำการส่งก้อนธุรกรรมที่ทำการม้วนเสร็จแล้ว นำไปยืนยันธุรกรรมทีเดียว และจะมีการบันทึกธุรกรรมเหล่านั้นกลับลงสู่ Ethereum เชนหลัก จึงทำให้การใช้งาน DApps ในเครือข่าย Optimism จะให้ความปลอดภัยที่เทียบเท่ากับการใช้งาน DApps ภายใน Ethereum เลย
ประวัติโดยย่อ : Optimism นั้นถูกก่อตั้งขึ้นในปี 2019 โดยกลุ่มคน 5 คนที่ต้องการเพิ่มความเร็วในการทำธุรกรรมของ Ethereum และลดค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรม ซึ่งถึงแม้ว่าในตอนนั้นการใช้งานภายใน Ethereum นั้นจะยังไม่ได้มากเท่ากับในปัจจุบัน แต่กลุ่มคนเหล่านั้นก็เชื่อว่า ในอนาคต Ethereum จำเป็นจะต้องเพิ่มศักยภาพของตนเองขึ้น จึงได้รวมตัวกันพัฒนา Layer 2 โดยตั้งชื่อโปรเจคในตอนเริ่มแรกว่า “Plasma Group”
ต่อมา ทางทีมงานก็ได้ค้นพบวิธีการม้วนธุรกรรม (Rollups) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีประเภทใหม่ที่ถูกเขียนขึ้นโดย Vitalik Buterin ผู้ร่วมก่อตั้ง Ethereum ที่จะสามารถเพิ่มความเร็วการทำธุรกรรมได้ และลดค่าธรรมเนียมธุรกรรมได้เหมือนเดิม แต่สิ่งที่แถมมากับวิธีการ Rollups คือความปลอดภัยเสมือนกับการใช้งานในเชน Ethereum เลย ทาง Plasma Group จึงได้พัฒนาเทคโนโลยี Rollups จนเกิดเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีชื่อว่า “Optimistic Rollups” จนสุดท้ายทางทีมจึงได้เปลี่ยนชื่อโปรเจคของตัวเองให้กลายเป็น “Optimism” นั่นเอง
Optimism Collective คือระบบการกำกับดูแลเครือข่ายรูปแบบใหม่ที่ทาง Optimism สร้างขึ้น ซึ่งเกิดมาจากวิสัยทัศน์ของทาง Optimism Foundation ที่มีความเชื่อว่า หากเราสร้าง DApps ที่มีแนวคิดที่ล้ำสมัย มีการสนับสนุนเงินช่วยเหลือโปรเจคต่างๆที่เข้ามาสร้างบน Optimism รวมไปถึงสร้าง Value ให้กับ Community ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ มันจะทำให้ Optimism มีการสร้างรายได้ที่มีประสิทธิภาพเข้ามาสู่ Ecosystem และรายได้เหล่านั้นก็จะถูกส่งกลับมายัง Community และส่งไปบริจาคให้กับโปรเจคใหม่ๆนั่นเอง โดย Optimism Collective ก็จะมีการแบ่งอำนาจการกำกับดูแลเครือข่ายออกเป็น 2 ส่วนคือ Token House และ Citizens House
Token House เกิดมาจากผู้ที่ได้รับ Airdrop OP Token ในครั้งแรกจำนวนกว่า 200,000 Wallet ที่ผ่านการคัดเลือกแล้วว่าเป็นบุคคลที่สร้าง Value ให้กับ Ecosystem ของ Optimism อย่างแท้จริง รวมถึงมีการสนับสนุน Optimism ตั้งแต่ช่วงแรกๆของการพัฒนา โดยบุคคลเหล่านี้จะสามารถใช้ OP Token ที่ตนเองได้รับมานั้น เป็นสิทธิ์ในการโหวตทิศทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การอัพเกรดเครือข่าย, การกำหนดสัดส่วนการแจก OP Token สำหรับ Incentive Program เป็นต้น
ในส่วนของ Citizen House จะมีหน้าที่ในการกำกับดูแลเงินทุนสนับสนุนโปรเจคต่างๆบน Optimism (Retroactive Public Goods Funding) โดยเงินในส่วนนี้ในตอนแรกจะได้รับมาจาก Allocation ของ OP Token ในตอนเริ่มต้นโครงการ และหลังจากนั้นจะได้รับมาจากส่วนแบ่งของรายได้ภายในเครือข่าย Optimism นั่นเอง
โดยรายได้ของ Optimism จะมาจากสองส่วนคือ รายได้จากส่วนต่างของการรับค่าธรรมเนียมธุรกรรม (Gas Fee) ใน Optimism และค่าใช้จ่ายในการบีบอัดธุรกรรมกลับไปยัง Ethereum นั่นเอง ซึ่งรายได้สองส่วนนี้หลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้ว จะถูกนำกลับไปเก็บที่ Retroactive Public Goods Funding ทั้งหมดสำหรับการสนับสนุนโปรเจคที่จะเข้ามาสร้างบน Optimism ในอนาคต
ทาง Optimism Foundation เชื่อว่า การที่เรามีเงินสำหรับสนับสนุนโปรเจคที่จะเข้ามาสร้างใหม่บน Optimism ทำให้เหล่านักพัฒนามีความต้องการที่จะเข้ามาสร้าง DApps ต่างๆภายใน Optimism เนื่องจากพวกเขาจะได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ ทำให้มีนักพัฒนาเก่งๆจากทั่วโลกเข้ามาสร้าง DApps ที่มีความก้าวล้ำและความไม่เหมือนใครออกมา ยิ่งทำให้ผู้คนอยากที่จะเข้ามาใช้งาน Optimism มากขึ้น ยิ่งคนใช้งานเครือข่าย Optimism มากขึ้น ยิ่งทำให้เครือข่าย Generate รายได้จากค่าธรรมเนียมที่มากขึ้น ยิ่งทำให้เม็ดเงินที่ไหลกลับเข้าไปใน Retroactive Public Goods Funding มีจำนวนที่มากขึ้น เพื่อพร้อมสนับสนุน Developer ที่จะเข้ามาสร้าง Value ลงบน Optimism นั่นเอง
ถึงแม้ว่า Optimism จะมีการสร้าง Value ต่อเครือข่ายและต่อ Community ที่ดีเพียงใด แต่ว่า OP Token ก็มีการนำไปใช้งานเพียงแค่การเป็นสิทธิ์ในการเข้าไปโหวตทิศทางของแพลตฟอร์มเท่านั้น (Governance Token) ซึ่งการที่ Use Cases ของ OP Token มีเพียงแค่การนำไปโหวต ยิ่งทำให้ความต้องการในการถือครองโทเค็นนั้นไม่ได้มีมากพอสำหรับการลงทุนระยะยาว และยิ่งทำให้เมื่อเกิดวิกฤตหรือเกิดตลาดร่วงแรงๆ เหล่าบรรดา Governance Token จะเป็นโทเค็นหมวดแรกๆที่มีการเทขายกัน ทำให้ส่งผลต่อราคาในทิศทางลบได้
รวมไปถึงอัตราการ Vesting OP Token หรืออัตราการปลดล็อคของ OP Token นั้น ถึงแม้ว่าจะมีการปลดโทเค็นทั้งหมดภายในปี 2026 แต่ภายในปี 2023 หรือภายในปีหน้านั้น จะมีการปลดล็อคโทเค็นออกมามากถึง 60% ของทั้งหมดเลยทีเดียว จึงทำให้มีโอกาสที่เหล่า Angel Investor นั้นจะมีการเทขายทำกำไรเป็นอย่างมากนั่นเอง
และจากเหตุการณ์การโดนแฮ็คเกอร์ขโมยเหรียญ 20,000,000 OP จากความสะเพร่าของ Wintermute ซึ่งเป็น Market Maker ที่ทาง Optimism ฝากให้ไปช่วยกระจายสภาพคล่องของ OP Token นั้น ยิ่งทำให้ Optimism เกิดแรงเทขายจากเหตุการณ์ครั้งนี้อย่างมีนัยยะสำคัญ โดยถึงแม้ว่าทางแฮ็คเกอร์จะมีการคืน OP Token กลับคืนไปมากถึง 17,000,000 OP Token แล้วก็ตาม สุดท้ายก็ต้องรอดูว่า เม็ดเงินจากนักลงทุนจะไหลกลับเข้ามายัง Optimism หรือไม่
มูลค่าตลาดปัจจุบันของ OP Token อยู่ที่ $124,025,407 หรือประมาณ 4,479,888,526 บาท อยู่ที่อันดับ 209 (อ้างอิงจากเว็บไซต์ CoinGecko) มีอุปทานหมุนเวียนอยู่ที่ 214,748,364 $OP จากอุปทานทั้งหมด 4,294,967,296 $OP มีราคาสูงสุดตลอดกาลอยู่ที่ $2.10 และมีราคาต่ำสุดตลอดกาลอยู่ที่ $0.40 (อ้างอิงจากราคาในเว็บ Coingecko) สามารถเทรด OP Token ได้ในเว็บเทรดต่าง ๆไม่ว่าจะเป็น Binance, Coinbase, KuCoin, Huobi, Gate.io เป็นต้น