Bitcoin Addict เปลี่ยนเว็บไซต์ใหม่เป็น www.bitcoinaddict.com

January 2, 2025
บทความ
3
min read

Ripple (XRP) คืออะไร ? อนาคตจะเป็นยังไง น่าลงทุนมั้ย

ภาพจาก coingape.com

Ripple (XRP) เป็นหนึ่งในบริษัทที่มุ่งให้บริการโซลูชั่นการชำระเงินข้ามพรมแดนแก่ธนาคารและสถาบันการเงิน โดยมี  XRP เป็นโทเค็นดั้งเดิมของเครือข่าย เพื่ออำนวยความสะดวกในการโอนระหว่างสกุลเงิน Fiat สำหรับลูกค้า และปัจจุบันยังติดอยู่ในสกุลเงินดิจิทัล 10 อันดับแรกตามมูลค่าตลาดมาอย่างต่อเนื่อง 

Ripple (XRP) คืออะไร 

ภาพจาก techopedia.com

Ripple เป็นแพลตฟอร์มแบบกระจายอำนาจที่ช่วยให้เราสามารถโอนสกุลเงินดิจิทัลและสกุลเงิน fiat ข้ามพรมแดนแบบเรียลไทม์โดยไม่ต้องมีคนกลาง ซึ่ง Ripple ยังเป็นที่รู้จักในด้านโปรโตคอลการชำระเงินดิจิทัลและ XRP ซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัลดั้งเดิม

แพลตฟอร์มได้รับการพัฒนาโดย Ripple Labs โดยมีสององค์ประกอบหลักได้แก่ : RippleNet และ XRP Ledger (XRPL)

XRP ดำเนินงานภายใต้โปรโตคอล Ripple Ledger Consensus (RPCA) โดยจะช่วยเพิ่มความเร็วของการตรวจสอบธุรกรรม และไม่จำเป็นต้องมีกระบวนการที่ซับซ้อนเท่ากับ Proof-of-Work/ POW หรือ Proof-of-Stake/ POS 

ลักษณะพิเศษอีกอย่างหนึ่งของ XRP คือมีการขุดล่วงหน้าตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการพัฒนา โดยโทเค็น XRP มีทั้งหมด 100,000,000,000 XRP ถูกสร้างไว้ล่วงหน้าและพร้อมใช้งานในปี 2012

ประวัติความเป็นมาของ Ripple 

Jed McCaleb (ซ้าย) และ Chris Larsen (ขวา) ภาพจาก blog.bitmex.com

เรื่องราว Ripple เกิดขึ้นในปี 2004 เมื่อ Ryan Fugger ได้สร้าง  RipplePay โดยถือเป็นการวางรากฐานสำหรับสิ่งที่ต่อมาจะกลายเป็น Ripple ที่เรารู้จักในปัจจุบัน โดยแนวคิดของ Fugger คือการสร้างระบบสกุลเงินดิจิทัลแบบกระจายอำนาจ ซึ่งกลายเป็นการจุดประกายแรงบันดาลใจเบื้องต้นสำหรับโครงการ

ต่อมาในปี 2011 และ RipplePay ได้รับความสนใจจาก Jed McCaleb โปรแกรมเมอร์และผู้ประกอบการ ที่ต้องการสร้างโซลูชันสกุลเงินดิจิทัลที่ผสานรวมกับการเงินแบบดั้งเดิมได้อย่างราบรื่น และในปี 2012 McCaleb ก็ได้ร่วมมือกับ Chris Larsen ผู้มีประสบการณ์ด้าน Fintech เพื่อร่วมก่อตั้ง OpenCoin 

Chris Larsen และ Jed McCaleb ตระหนักดีว่าระบบการเงินทั่วโลกกำลังจะถูก disrupt  และเทคโนโลยีบล็อกเชนก็มีศักยภาพในการปฏิวัติวิธีการโอนเงินและการทำธุรกรรมทางการเงินที่มหาศาล

และด้วยความเชื่อมั่นนี้เอง พวกเขาจึงได้สร้างโซลูชันที่จะเชื่อมช่องว่างระหว่างโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่มีอยู่ในปัจจุบัน กับความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ของเทคโนโลยีบล็อกเชน 

ภารกิจของพวกเขาคือการพัฒนาโปรโตคอลสำหรับการชำระเงินดิจิทัล นั่นจึงนำไปสู่การเปิดตัวโปรโตคอล Ripple ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงการทำธุรกรรมข้ามพรมแดนโดยใช้เทคโนโลยีบล็อคเชน และด้วยโปรโตคอลนี้ก็ทำให้เกิด XRP ซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัลของ Ripple ที่ออกแบบมาเพื่ออำนวยความสะดวกในการโอนเงินระหว่างประเทศที่รวดเร็วและคุ้มค่ากว่าระบบเดิม

Ripple ทำงานอย่างไร

หัวใจสำคัญของการดำเนินงานของ Ripple ก็คือ Ripple Protocol ซึ่งทำหน้าที่เป็นรากฐานของเทคโนโลยี  โดยโปรโตคอลนี้ใช้กลไก consensus ที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองและแตกต่างจากเครือข่ายบล็อกเชนอื่น ๆ  โดย Ripple ใช้อัลกอริธึมที่เรียกว่า Ripple Protocol Consensus Algorithm (RPCA)

Ripple Protocol Consensus Algorithm (RPCA) ภาพจาก medium.com/@xroninfed/

ใน RPCA นั้น แต่ละเซิร์ฟเวอร์บนเครือข่ายจะรวบรวมชุดธุรกรรมอย่างอิสระ ซึ่งไม่รวมอยู่ในการบักทึกก่อนหน้านี้ จากนั้นจะถูกแชร์กับ Unique Node List (UNL) ของเซิร์ฟเวอร์ เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของธุรกรรม

เซิร์ฟเวอร์จะทำการลงคะแนนต่อความถูกต้องของธุรกรรม โดยต้องผ่านความเห็นชอบหลายรอบเพื่อให้แน่ใจว่าได้รับความเห็นพ้องต้องกันเป็นส่วนใหญ่ และหากธุรกรรมได้รับคะแนนโหวต "YES" ถึงขั้นต่ำ ธุรกรรมนั้นก็ได้จะรวมอยู่ในการบันทึกถัดไป

กลไกนี้ช่วยให้ XRPL บรรลุข้อตกลงทั่วทั้งเครือข่ายได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องใช้ตัวกลาง และแตกต่างจากวิธีการของ Proof-of-Work (PoW) หรือ Proof-of-Stake (PoS) ทำให้เร็วขึ้นและประหยัดพลังงานมากขึ้น

โทเค็นโนมิกส์ของ XRP 

XRP มีทั้งหมด 100,000,000,000 XRP ถูกสร้างขึ้นในคราวเดียว โดยตอนนี้มี Circulating Supply อยู่ที่ 55,430,475,754  ล้าน XRP แล้วทำไมถึงมีแค่นี้ นั่นก็เพราะในตอนที่สร้างนั้น Ripple ตัดสินใจที่จะล็อคโทเค็น XRP เหล่านั้นไว้ในบัญชีเอสโครว์เพื่อควบคุมการปล่อยโทเค็นออกสู่ตลาด โดยในทุก ๆ เดือน จะมีส่วนหนึ่งของโทเค็นในเอสโครว์เหล่านี้ถูกปล่อยออกมา และโทเค็นที่ไม่ได้ใช้ก็จะถูกส่งกลับไปยังเอสโครว์ตามเดิม

ข้อดีของ XRP

  • การยืนยันธุรกรรมทำได้รวดเร็วในเวลา 4 ถึง 5 วินาที เมื่อเทียบกับธนาคารที่อาจต้องใช้เวลาในการโอนเงินให้เสร็จสิ้นหลายวัน หรือเป็นนาทีหรือชั่วโมงสำหรับการตรวจสอบธุรกรรมของ Bitcoin
  • ต้นทุนในการทำธุรกรรมบนเครือข่ายที่ถูกมาก โดยอยู่ที่ 0.00001 XRP คิดเป็นประมาณ 0.00019 บาท
  • เครือข่าย Ripple ไม่เพียงแต่ประมวลผลธุรกรรมโดยใช้ XRP ได้เท่านั้น แต่ยังสามารถใช้กับสกุลเงิน Fiat และสกุลเงินดิจิตอลอื่น ๆ ได้อีกด้วย
  • องค์กรขนาดใหญ่ใช้ Ripple เป็นแพลตฟอร์มการทำธุรกรรม เช่น  Santander และ Bank of America แสดงให้เห็นว่ามีการยอมรับในตลาดสถาบัน

ข้อเสียของ XRP

  • หนึ่งในเหตุผลที่สกุลเงินดิจิทัลได้รับความนิยมก็คือการกระจายอำนาจ และไม่ต้องถูกควบคุมจากธนาคารและรัฐบาลใด แต่ระบบของ Ripple นั้นมีความรวมศูนย์เนื่องจาก validator ได้รับการแต่งตั้งโดย Ripple Labs 
  • Ripple Labs ยังถืออีกกว่า 60% ของ Supply XRP ทั้งหมด  โดยส่วนใหญ่ถูกเก็บไว้ในเอสโครว์
  • ในเดือนธันวาคม 2020 ก.ล.ต.สหรัฐฯ ได้ยื่นฟ้อง Ripple เนื่องจากสามารถตัดสินใจได้ว่าจะปล่อย XRP ออกสู่ตลาดเมื่อใด บริษัทจึงควรจดทะเบียนเป็นหลักทรัพย์ แม้เมื่อปีที่แล้ว ผู้พิพากษา Analisa Torres แห่งนิวยอร์กจะตัดสินว่าการขาย XRP บางส่วนของ Ripple ที่เรียกว่าแบบเป็นโปรแกรมนั้นไม่ได้ละเมิดกฎหมายหลักทรัพย์ อย่างไรก็ตาม เธอก็ได้ตัดสินว่าการขาย XRP ให้กับนักลงทุนสถาบันนั้นเป็นหลักทรัพย์ และต้องจ่ายค่าปรับ 1.95 พันล้านดอลลาร์ โดนตอนนี้กำลังอยู่ขั้นตอนการพิจารณาของศาล

สรุปอนาคตของ Ripple (XRP) 

แม้ว่าตอนนี้คดีความของ Ripple ยังไม่สิ้นสุด ทำให้มันยังคงเป็นอุปสรรคที่สำคัญอยู่ อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ของคดีนี้จะมีผลกระทบต่อกฎระเบียบของตลาด Crypto ในวงกว้าง และอาจเป็นตัวกำหนดรูปแบบการดำเนินการด้านกฎระเบียบกับบริษัท Crypto ในอนาคตอีกด้วย และหากผลของคดีเข้าทาง Ripple … อนาคตของ XRP และ Crypto อื่น ๆ จะน่าสนใจอย่างแน่นอน 

นอกจากนี้ XRP ยังได้รับการยอมรับจากนักลงทุนและสถาบันการเงินต่าง ๆ  โดยมีการนำไปใช้งานจริงในธุรกิจขนาดใหญ่ทั่วโลกก็อาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการเติบโต  

ในด้านราคานั้น XRP เคยทำสถิติสูงสุดที่ 3.40 ดอลล่าร์ เมื่อกว่า 6 ปีที่แล้ว และจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่เคยกลับไปใกล้เคียงได้อีกเลย

บทความที่คุณอาจสนใจ